ศีล หมายถึง ความตั้งใจที่งดเว้นจากความชั่ว ความทุจริต และสิ่งที่ไม่ดีทุกประการ ดังที่พระสารีบุตรได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคว่า “ศีล คือ เจตนา ความตั้งใจ ที่จะงดเว้นจากกายทุจริต 3 (คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม) และวจีทุจริต 4 (คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ)”
ศีล 5 คืออะไร ?
ศีล คือ “ เจตนา” ความตั้งใจ ที่จะงดเว้นจากกายทุจริต 3 (ไม่ฆ่าสัตว์, ไม่ลักทรัพย์, ไม่ประพฤติ ผิดในกาม) และวจีทุจริต 4 (ไม่พูดเท็จ, ไม่พูดคำหยาบ, ไม่พูดส่อเสียด, ไม่พูดเพ้อเจ้อ)
ศีล คือ “ เจตสิก” หมายถึงการงดเว้นจากมโนทุจริต 3 (ความโลภอยากได้ของผู้อื่น, มีจิตคิดพยาบาท, มีความเห็นผิด)
ศีล คือ ความสำรวมระวัง ปิดกั้นความชั่ว
ศีล คือ การไม่ล่วงละเมิดข้อห้าม
ศีล 5 คือ มนุษยธรรม หรือธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์
ศีล 5 เป็นสิ่งที่มนุษย์ช่วยกันบัญญัติขึ้นมา เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข จากสามัญสำนึกที่รู้ว่า เมื่อเรามีความรักตนเอง ต้องการความสุข ความปลอดภัยในชีวิต คนอื่นก็ย่อมมีความรู้สึกเช่นเดียวกับเรา ด้วยเหตุนี้แม้ในยุคที่ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบังเกิดขึ้น ศีล 5 ก็มีอยู่แล้ว
แม้ศีลจะมีหลายความหมาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เจตนา ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า
ศีล คือ ความตั้งใจ ที่จะงดเว้นจากความชั่ว ความทุจริต สิ่งที่ไม่ดีทุกประการ
มนุษย์ แปลว่า สัตว์ที่มีจิตใจสูง สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล
มนุษย์มีเหตุ มีผลรู้จักยับยั้งชั่งใจ แต่สัตว์ไม่มีสิ่งนี้เมื่อใดที่มนุษย์มีศีล 5 ครบ ความเป็นมนุษย์ก็สมบูรณ์ กายก็เป็นปกติ วาจาก็ปกติ ใจก็ปกติ เมื่อไรศีล 5 ขาด ความเป็นมนุษย์ก็ลดลง
ศีล 5 จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
โดยแต่ละข้อสามารถแบ่งแยกความเป็นมนุษย์กับสัตว์ได้ดังนี้
ข้อ 1 ตั้งใจงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
ตามปกติมนุษย์เราไม่ฆ่ากัน ต่างจากพวกสัตว์ เช่น เสือ สิงโต เวลาหิวก็ไล่ล่าสัตว์อื่นกินทันที ศีลข้อ 1 จึงแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์ได้อย่างชัดเจน
ข้อ 2 ตั้งใจงดเว้นจากการลักขโมย
ธรรมชาติของมนุษย์จะไม่ลักขโมยทรัพย์สินของใครเพราะมนุษย์มีความรู้เรื่อง กรรมสิทธิ์ ว่านี่ของเขา นี่ของเรา แต่สัตว์ไม่รู้ เช่นเวลาสุนัขเห็นแมวกินปลาอยู่ ถ้าอยากได้มันจะเข้าไปแย่งเลย ดังนั้นถ้าใครลักขโมย จี้ปล้นทรัพย์สินของคนอื่น ก็แสดงว่าขณะนั้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาสูญเสียไปแล้ว
ข้อ 3 ตั้งใจงดเว้นจากการประพฤติในกาม
ปกติมนุษย์รู้จักควบคุมความต้องการของตัวเอง รู้ว่าอะไรควรไม่ควร ต่างจากสัตว์ เช่น สุนัขเมื่อถึงคราวฮอร์โมนเพศทำงาน มันจะกัดแย่งตัวเมีย แต่มนุษย์ปกติจะไม่เป็นเช่นนั้น
ปกติมนุษย์จะไม่หลอกลวงกันและไม่เบียดเบียนคนอื่น ด้วยคำพูด ต่างจากสัตว์ เช่น สุนัขที่อยู่ในบ้าน พอมีสุนัขตัวอื่นหรือมีคนเดินผ่านมา มันจะเห่าทันทีเลย แต่มนุษย์เราไม่เป็นเช่นนั้น อยู่ดีๆ เราจะไม่ว่ารึว่าด่าใคร
ข้อ 5 ตั้งใจงดเว้นจากดื่มสุราเมรัย อันเป็นต้นเหตุแห่งความประมาท
ปกติสัตว์ใหญ่มีกำลังมากกว่ามนุษย์ แต่บังคับทิศทางไม่ค่อยได้ เพราะไม่มีสติควบคุม ดังนั้นสัตว์จึงไม่สามารถเปลี่ยนกำลังกายให้เกิดเป็นคุณงามความดีอะไรได้แต่ มนุษย์มีสติควบคุมการกระทำ ทำให้สามารถเปลี่ยนกำลังกายมาเป็นการกระทำความดีได้ แต่เมื่อใดที่มนุษย์ดื่มสุรา ของมึนเมา หรือยาเสพติดเข้าไป ก็จะขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจทำให้สามารถทำเรื่องเลวร้ายได้ ศีลข้อ 5_นี้ จึงเป็นข้อที่สำคัญที่สุด เพราะคนที่ขาดสติสามารถทำความชั่วได้ทุกอย่างและผิดศีลข้ออื่นได้ทุกข้อ
การรักษาศีล 5
ศีล เป็นบ่อเกิดแห่งความสงบ ความดีงาม เนื่องจากศีลเป็นคุณธรรมที่ช่วยรักษา กาย วาจาให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
การรักษาศีล เป็นบุญกิริยาวัตถุ คือ วิธีการทำบุญอย่างหนึ่ง เพราะทุกครั้งที่เราตั้งใจงดเว้นจาก ความชั่ว ตั้งใจที่จะไม่เบียดเบียนใคร ย่อมจะเกิดกระแสแห่งความดี เกิดความเมตตาขึ้นมาในใจ ที่เราเรียกว่า กระแสบุญ อันเป็นเครื่องชำระจิตใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ การรักษาศีลจึงเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และจิตใจให้บริสุทธิ์ดีงามยิ่งขึ้น
การรักษาศีลให้บริสุทธิ์จะทำให้ใจสงบ ปลอดกังวล ช่วยให้สามารถบรรลุธรรมได้โดยง่าย ศีลจึงเป็นคุณธรรมที่นำไปสู่กุศลธรรมเบื้องสูงคือสมาธิ(Meditation) และปัญญา
ประเภทของศีล
ศีล มี 3 ประเภท คือ
ศีล 5 (เบญจศีล)
ศีล 8 (อุโบสถศีล)
และปาริสุทธิศีล (มหาศีล)
ในที่นี้จะขยายความเฉพาะศีล 5 ซึ่งเป็นศีลขั้นพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ
ศีล 5 มีประโยชน์อะไรบ้าง ?
ศีลแต่ละข้อมีอานิสงส์ช่วยออกแบบชีวิตเราให้มีรูปสมบัติและสิ่งที่น่าปรารถนาต่างๆอีกมากมายในชาติต่อๆไปแม้ในปัจจุบันชาติ อานิสงส์ของศีลก็ยังสามารถปรากฎให้เห็นทันตาได้ดังตัวอย่างของพระภิกษุ สามเณร ที่รักษาศีลได้บริสุทธิ์บริบูรณ์จะมีผิวพรรณวรรณะผ่องใส กิริยาวาจาเรียบร้อย อ่อนโยน สงบเสงี่ยม สง่างาม น่าศรัทธาเลื่อมใส
ตรงข้ามกับผู้ที่มีใจร้าย โกรธง่าย โมโหง่าย จะมีหน้าตาบึ้งตึง ไม่น่าดู และมีผิวพรรณเศร้าหมอง เพราะในขณะที่เกิดอารมณ์โกรธ ต่อมหมวกไต (Adrenal gland) จะขับสารเคมีชื่อ อะดรีนาลิน (Adrenalin) ออกมาสู่กระแสโลหิตทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทางสรีระไปในทางไม่ดีเช่น ทำให้ผิวพรรณวรรณะไม่ผ่องใส ดังนั้นใครปรารถนาจะออกแบบชีวิตให้สมบูรณ์พร้อมด้วยรูปสมบัติ พึงตั้งใจรักษาศีลให้ดี
วัตถุประสงค์ของการรักษาศีล
หากเราเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการรักษาศีล ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างไร จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องรักษา ก็จะทำให้เราสามารถรักษาศีลได้อย่างถูกต้อง รักษาแล้วเกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นไปเพื่อ ประโยชน์ที่แท้จริงของศีล ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การรักษาแบบทำตามกันมา หรือว่ารักษาไปอย่างนั้น ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดเลย
การรักษาศีล มีวัตถุประสงค์สำคัญ 5 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ
1. เพื่อเป็นการป้องกันชีวิตของเราในภพชาติปัจจุบัน ไม่ให้ต้องพบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน และความเสื่อมเสียอันเนื่องมาจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
2. เพื่อให้เกิดความสุข ความดีงาม ในการดำเนินชีวิต
3. เพื่อให้เกิดความสงบร่มเย็น และความดีงามแก่ครอบครัว และสังคม
4. เพื่อเป็นการป้องกันชีวิตของเราในภพชาติต่อไป ไม่ให้ต้องพบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน และความเสื่อมเสียอันเนื่องมาจากการเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น
5. เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณธรรมที่สูงขึ้นไป ได้แก่ สมาธิ และปัญญา อันจะทำให้บรรลุ มรรคผลนิพพานได้
องค์ประกอบของศีล
การฆ่าสัตว์ต้องประกอบด้วยองค์ 5 คือ
1. สัตว์นั้นมีชีวิต
2. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
3. มีจิตคิดจะฆ่าสัตว์นั้น
4. มีความพยายามฆ่าสัตว์นั้น
5. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
การลักทรัพย์ต้องประกอบด้วยองค์ 5 คือ
1. ทรัพย์หรือสิ่งของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
2. รู้ว่าทรัพย์นั้นมีเจ้าหวงแหน
3. มีจิตคิดจะลักทรัพย์นั้น
4. มีความพยายามจะลักทรัพย์นั้น
5. ลักทรัพย์ด้วยความพยายามนั้น
การประพฤติผิดในกามต้องประกอบด้วยองค์ 4 คือ
1. หญิงหรือชายที่ไม่ควรละเมิด
2. มีจิตคิดเสพเมถุน
3. ประกอบกิจในการเสพเมถุน
4. ยังอวัยวะเพศให้ถึงกัน
การพูดเท็จประกอบด้วยองค์ 4 คือ
1. เรื่องไม่จริง
2. มีจิตคิดจะพูดให้ผิดความเป็นจริง
3. พยายามคิดจะพูดให้ผิดจากความเป็นจริง
4. คนฟังเข้าใจความหมายคนที่พูดนั้น
การดื่มน้ำเมาต้องประกอบด้วยองค์ 4 คือ
1. น้ำที่ดื่มเป็นน้ำเมา
2. มีจิตคิดจะดื่ม
3. พยายามดื่ม
4. น้ำเมาล่วงพ้นลำคอลงไป
การละเมิดศีลถ้ายังไม่ครบองค์ประกอบทุกข้อ ยังไม่ถือว่าศีลขาด เช่น การฆ่า มี 5 องค์ประกอบแต่ทำไป 4 องค์เรียกว่าศีลทะลุ ถ้าลดหลั่นลงมาเรียกว่า ศีลด่าง ศีลพร้อยตามลำดับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น